โรคแพ้อาหาร
การ “แพ้” หรือ “Allergic reaction” คือ การที่ระบบภูมิต้านทานของร่างกายเกิดปฏิกิริยามากผิดปกติ ต่อสารธรรมดา
ในคนทั่วไป ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย จะมีปฏิกิริยา ต่อสิ่งที่จะทำอันตรายร่างกายเท่านั้น เช่น พวกเชื้อโรคต่างๆ โดยร่างกายจะสร้างสารที่เรียกกันรวม ๆ ว่า “ภูมิคุ้มกัน” (Antibody) ออกมามากมายหลายชนิด ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อร่างกายได้รับสารธรรมดาบางอย่าง เช่น ละอองเกสร ไรฝุ่น เศษแมลงสาบ รังแคสัตว์เลี้ยง สปอร์เชื้อรา หรือแม้แต่สารอาหารชนิดต่างๆ ร่างกายกลับสร้างภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า IgE ขึ้นมามากมาย มาต่อสู้กับ “สารก่อภูมิแพ้” ดังกล่าว จนเกิดอาการต่างๆ ของโรค ในตระกูลที่เกิดจากภูมิแพ้ อันได้แก่ แพ้อากาศ หอบหืด แพ้อาหาร แพ้แมลงกัดต่อย แพ้ยา ผื่นผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ ลมพิษ แองจีโออีดีมา ฯลฯ
ในรายที่ “แพ้อาหาร” จึงหมายถึง คนที่รับประทานอาหาร อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นม ไข่ อาหารทะเล ฯลฯ เข้าไปแล้ว ร่างกายของเขาสร้าง IgE มาต่อสู้กับโปรตีนของสารอาหารดังกล่าว จนทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น
อาการของโรคแพ้อาหาร
อาการมีได้หลายอย่าง แบ่งตามระบบดีกว่า จะได้ไม่งง
อาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น คันปาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย
อาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันในจมูก คันคอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หอบ
อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นขึ้น อาจเป็นผื่นแผงๆ ที่เรียกว่า eczema หรือ ผื่นแบบลมพิษ คันตามตัว
รายที่อาการเป็นมาก รุนแรง เป็นทีเดียวหลายระบบ ก็ช็อก (shock) ได้ ถ้ารักษาไม่ทันก็มีสิทธิ์ ตายได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการและความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แม้ในรายเดียวกัน อาการแพ้แต่ละครั้ง อาจแตกต่างกัน ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ก็ได้ นอกจากนี้ในบางราย โดยเฉพาะรายที่ปฏิกิริยาแพ้ไม่รุนแรง อาการอาจไม่เกิดทันทีที่รับประทานอาหารนั้นเข้าไป แต่จะทิ้งช่วงหลายชั่วโมงจนถึงเป็นวัน ซึ่งยิ่งทำให้นักสืบจับผู้ร้ายยากใหญ่ และยังควรทราบด้วยว่า อาการที่เกิดเนื่องจากการรับประทานอาหาร ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคแพ้อาหารเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ไปรับประทานอาหารไม่สะอาด หรืออาหารมีเชื้อโรคปนอยู่ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดิน อย่างนั้นเราไม่เรียกว่า แพ้อาหาร เรียกว่า อาหารเป็นพิษ หรือในคนที่ดื่มนมวัวแล้วท้องเสีย เนื่องจากร่างกายขาดน้ำย่อยชนิดหนึ่ง แบบนี้ก็ไม่เรียกว่า “แพ้”
ทำไมแพ้อาหารจึงเป็นกับบางคนเท่านั้น ?
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์ บางคนรับถ่ายทอดกรรมพันธุ์การแพ้มาจากบรรพบุรุษ จัดเป็นมรดกตกทอดที่ไม่น่าพิสมัยนัก การแพ้อาหาร มักเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก แต่บางรายเพิ่งจะมาเริ่ม แพ้อาหารเอาตอนโตแล้วก็ได้ บางคนแพ้อาหาร ที่เคยรับประทานได้มานานโดยไม่เคยมีปัญหา แบบนี้ก็มีเหมือนกัน ความแข็งแรงของร่างกายก็สำคัญ บางคนตอนร่างกายแข็งแรง รับประทานกุ้งได้ไม่เป็นไร แต่พอป่วยไข้ไม่สบายด้วยโรคอื่น หรือแม้แต่เครียดรับประทานกุ้งแล้วผื่นขึ้น
การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้
ในรายที่รับประทานไข่ แล้วลมพิษขึ้น และเป็นอย่างนี้ ทุกทีที่รับประทานไข่ แบบนี้ง่ายส่วนใหญ่คนไข้พวกนี้ มักไม่ต้องหาหมอ เขารู้ได้เองแทบทุกราย แต่คนไข้อีกส่วนหนึ่ง อาการเกิดหลังรับประทานอาหารหลายชั่วโมง บางครั้งเป็นวัน และบางรายอาการเล็กน้อย แต่สะสมมาจนเรื้อรัง โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่เป็นผื่นแดงๆ ตามข้อพับ ใบหน้า ที่หมอชอบเรียกว่า eczerma พวกนี้คุณพ่อคุณแม่ตอบไม่ค่อยได้ว่าแพ้อะไร เพราะผื่นเริ่มขึ้นมาทีละน้อยสะสมจนมากขึ้นเรื่อยๆ บางวันผื่นมากบางวันผื่นน้อย แบบนี้แหละ ที่มักถึงมือหมอภูมิแพ้
หมอก็ต้องสวมวิญญาณเป็นลูกคุณช่างถาม เช่น ถามว่า รับประทานอะไรเข้าไปบ้างมากน้อยเท่าไร รับประทานตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนมีอาการกี่ชั่วโมง คนอื่นที่รับประทานด้วยกัน มีอาการผิดปกติหรือเปล่า เคยรับประทานอาหารนี้มาก่อนไหม ถ้าเคย ครั้งก่อนมีอาการอย่างไร ช่วงนี้สุขภาพแข็งแรงดีอยู่เดิมไหม อาการที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง เรียงตามลำดับโดยละเอียด ยังต้องซักย้อนไปถึงโรคประจำตัวเดิม ยาที่รับประทานประจำ ประวัติโรคทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้สิ่งแวดล้อมในบ้าน ที่ทำงานเป็นอย่างไร ฯลฯ
ถามเฉยๆ บางทีไม่พอ เพราะคนไข้ก็จำไม่ได้ว่า รับประทานอะไรเข้าไปบ้าง ยิ่งถ้าต้องย้อนหลังหลายๆวัน ไม่มีใครจำได้ หมอจึงอาจให้คนไข้ทำสมุดจดรายการอาหาร ที่รับประทานแต่ละวัน จดได้ทุกวัน วันไหนมีอาการอย่างไร ก็ให้บันทึกลงไปด้วยไว้เป็นแหล่งข้อมูลช่วยในการวินิจฉัยโรคอย่างหนึ่ง
การทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง
นอกจากนี้หมออาจต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง โดยการเอาสารอาหารชนิดต่างๆ หยดลงบนผิวหนัง แล้วสะกิดให้ผิวเป็นรอยถลอกเล็กๆ พอให้น้ำยาซึมลงไปได้ ไม่ถึงขนาดเลือดตกยางออก แล้วรอ 20 นาที อ่านผลได้เลย การอ่านผลบวกหรือลบ ดูที่ว่า มีตุ่มนูน แดง คล้ายยุงกัด เกิดขึ้นที่บริเวณหยดน้ำยาใด ขนาดตุ่มใหญ่เล็กเท่าไหร่ จัดลำดับออกมาเป็นบวกมาก บวกน้อย ถ้าไม่มีตุ่มนูนแดงเกิดขึ้น เรียกว่าลบ คือไม่แพ้
ส่วนพวกที่บวก เรายังไม่รีบด่วนสรุปว่าแพ้อาหารตัวนั้นๆ ทันทีในรายที่ปฏิกิริยาการแพ้อาหารทานอาหารนั้น ถ้ามีอาการแพ้เกิดขึ้น จึงถือว่าแพ้จริง แต่ถ้ารับประทานได้ไม่มีปัญหา ก็ยังไม่ถือว่าแพ้ แม้ว่า การทดสอบให้ผลก็ตาม เพราะเมื่อร่างกายย่อยอาหารนั้นแล้ว ดูดซึมผ่านผนังลำไส้ โมเลกุลของอาหารจะต่างจากสารเริ่มต้น ที่เรานำมาทดสอบ คนไข้อาจไม่แพ้โมเลกุลที่ผ่านขบวนการ มาหลายขั้นตอนแล้วนั้น ยกตัวอย่างเช่น ผลทดสอบได้ผลบวกต่อไข่และกุ้ง แต่เวลาคนไข้รับประทานไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ต้ม ไม่เคยมีอาการแพ้ แต่ถ้าเมื่อไหร่รับประทานกุ้งเผาจึงได้เรื่อง แบบนี้เราสรุปว่า แพ้กุ้ง ไม่แพ้ไข่ บางรายอาจรัปบระทานแล้ว ก็ยังตอบไม่ได้ว่ามีอาการ “แพ้ ” ต่ออาหารนั้นหรือไม่ โดยเฉพาะพวกเด็ก ที่เป็นผื่น eczema เราก็จะลองให้งดอาหารที่ผลการทดสอบเป็นบวก โดยลองงดดูที่ละอย่าง อย่างละ 2-3 สัปดาห์ สังเกตดูซิว่า ผื่นลดลงในช่วงงดอาหารนั้นไหม ค่อยๆ งดไปทีละย่าง บางทีอาการแพ้ไม่รุนแรงจนอันตราย เราอาจให้ลองรับประทานอาหารนั้นใหม่ หลังจากงดไปสัก 2-3 สัปดาห์ ถ้าผื่นเห่อขึ้นมาอีก แบบนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าแพ้อาหารนั้นแน่
การตรวจเลือดหาสิ่งที่แพ้
บางรายเราอาจต้องใช้การตรวจเลือดแทนการทดสอบทางผิวหนัง โดยเฉพาะพวกที่ผื่นขึ้นมากขึ้นในผิวหนังส่วนที่เราใช้ทดสอบ หรือผิวหนังมีปัญหาที่เรียกว่า dermatographia คือผิวหนังไวมาก โดนอะไรขูดขีดเป็นบวมแดงไปหมด แบบนี้ขืนเอาไปทดสอบ ผลจะผิดพลาดเชื่อถือไม่ได้ นึกว่าแพ้ไปเสียทุกอย่างคนไข้อีกประเภทหนึ่งที่ต้องตรวจเลือด คือ พวกที่รับประทาน ยาแก้แพ้อยู่เป็นประจำ และไม่สามารถ
งดยาก่อนทดสอบได้ เพราะโรคจะกำเริบ แบบนี้ก็ให้รับประทานยาต่อไป ใช้วิธีตรวจเลือดแทน แต่การตรวจเลือดนี้มีข้อเสียที่ยิ่งใหญ่ในยุค IMF คือแพงมาก เมื่อได้ผลเลือดแล้วก็ต้องมาลองรับประทาน ลองงดอาหาร เหมือนพวกที่ทดสอบทางผิวหนังเหมือนกัน
อาหารที่ทำให้แพ้ได้บ่อย
อาหารบางอย่างมีสารก่อภูมิแพ้มากกว่าอาหารอื่น อาหารพวกนี้จึงพบเป็นสาเหตุของโรคแพ้อาหารได้บ่อย เช่น
- อาหารทะเล ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก แมงกะพรุน
- ไข่ โดยเฉพาะไข่ขาว
- ถั่ว ทั้งพวกถั่วลิสง ถั่งเหลือง อัลมอนด์ วอลนัท ฯลฯ
- ข้าวสาลี
- ข้าวโพด
แต่นอกเหนือจากอาหารพวกที่กล่าวมาแล้ว อาหารทั่วไปอื่นๆ ก็แพ้ได้ และรายที่แพ้อาหารอย่างใด อย่างหนึ่งเข้าแล้ว ต้องระวังว่าอาจแพ้อาหารอื่นในกลุ่มเดียวกันด้วยเช่น ถ้าแพ้หอยแมลงภู่ ก็อาจแพ้หอยอื่นๆ ได้ด้วย
รายหนูน้ำหวาน เมื่อได้ทำครบถ้วนกระบวนความแล้ว ผลออกมาไม่ได้แพ้อาหารทะเลเลย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมรับประทานอาหารทะเลครั้งก่อนๆ ไม่เคยมีปัญหา แล้วแพ้อะไร ถึงได้เคยมีอาการเล็กๆ น้อยๆ มาบ้าง ก่อนจะเจอแจ็กพ็อตเข้าให้ในคราวสุดท้าย
พ.ญ.สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ (นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ฉบับที่ 36 ปีที่ 3 ตุลาคม 2541)</small/>